ตั้งชื่อแบรนด์ อาหารเสริม จะเน้นแต่คำสวยหรู จดจำง่าย อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องสามารถยื่นจดทะเบียนกับ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ด้วย ถึงจะสามารถวางจำหน่ายได้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่า จะตั้งชื่อว่าอะไรดี หรือ ไม่แน่ใจว่า ชื่อผลิตภัณฑ์ที่มีนั่น จะจดทะเบียนผ่านหรือไม่ SGECHEM มีเช็กลิสต์มาฝากว่า อะไรบ้างที่ไม่ควรทำในการตั้งชื่อแบรนด์ พร้อมเทคนิคการตั้งชื่อมาฝากที่จะทำให้คุณจดทะเบียนกับอย.ได้ และทำการตลาดได้ปัง ส่วนจะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย

ทำไมต้อง ตั้งชื่อแบรนด์ ให้ถูกใจ อย.

ตั้งชื่อแบรนด์

เพราะในอดีตถึงปัจจุบัน มีการผลิตอาหารเสริมวางจำหน่ายกันมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นมีฤทธิ์ในการบำรุงรักษา หรือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกต่อสุขภาพร่างกาย เสริมสุขภาพความงาม จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อ ซื้อมารับประทาน โดยไม่รู้ว่าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความเข้มงวดกวดขัน ในการควบคุมให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ออกมาวางจำหน่าย มีคุณภาพและมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ขึ้นมา ซึ่งการจะขึ้นทะเบียนอาหารเสริมได้นั้น จะต้องทำตามกฎหมายนี้อย่างเคร่งครัด

ตั้งแต่การตั้งชื่อแบรนด์ การโฆษณา ต้องไม่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือสื่อความหมายว่า จะช่วยบำบัด รักษาโรค ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ ตลอดจน มาตรฐานของสถานที่ผลิต หรือนำเข้าใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ก็ต้องระบุรายละเอียดเหล่านี้ให้ครบถ้วน และยื่นเรื่องให้ อย. พิจารณาและอนุญาตก่อน ถึงจะสามารถวางจำหน่ายได้

5 สิ่งไม่ควรทำในการตั้งชื่อแบรนด์

ตั้งชื่อ แบรนด์

ก่อนจะตั้งชื่อแบรนด์ให้ผ่าน ควรรู้ว่า ไม่ควรมีอะไรอยู่ในชื่อแบรนด์บ้าง เพื่อให้มีแนวทางในการตั้งชื่ออาหารเสริมได้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดย 5 สิ่งที่ไม่ควรทำ ในการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริม ได้แก่

1. ไม่สื่อผลลัพธ์ สรรพคุณ

ชื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้น ต้องไม่สื่อถึงผลลัพธ์ สรรพคุณ ที่จะได้รับจากการรับประทานเข้าไป เช่น Slim / White / Loss / More / High / Good / Smooth / Pink / Best เป็นต้น อันอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าสามารถใช้ในการรักษา หรือ คาดหวังผลลัพธ์จากการรับประทานเข้าไปได้

2. ไม่สื่อถึงผู้บริโภค

ต้องไม่มีคำใดคำหนึ่ง ที่สื่อถึงผู้บริโภค เช่น Young Man Woman Old ซึ่งอาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า เป็นอาหารเสริมสำหรับช่วงวัยตนเอง จนคาดหวังว่า จะมีผลลัพธ์ต่อสุขภาพ เมื่อได้รับประทานผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทั้งนี้ หากเป็นชื่อที่สื่อถึง สรีระ  รูปร่าง  ผิวพรรณ  น้ำหนัก  การลด  การตัดทอน การเพิ่มขึ้น เพศ ก็ไม่ผ่านเช่นกัน

3. ไม่มีความหมาย

ไม่มีความหมายในที่นี้ หมายรวมถึงภาษาอังกฤษ ที่สามารถแปลความหมายเป็นไทยได้ และภาษาอื่น ๆ ที่พอแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว มีความหมาย ตัวอย่างเช่น “Bianco” เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วไม่มีความหมาย แต่เมื่อแปลเป็น ภาษาอิตาลี จะมีความหมายว่า “White” นั้นก็แปลว่า “ขาว” นั้นเอง จึงไม่ผ่านการพิจารณา โดยวิธีการตรวจเช็กง่าย ๆ ให้นำเอาคำนั้น ไปแปลภาษาใน Google Translate ก็จะรู้ได้ทันที ทั้งนี้ หากคำนั้น มีความหมาย แต่ไม่สื่อถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ก็อาจมีโอกาสที่ชื่อนั้น จะได้รับการพิจารณาก็ได้

4. ไม่พ้องเสียง

คำหรือชื่อของผลิตภัณฑ์ ต้องไม่พ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่มีความหมาย ที่อาจอวดอ้างถึงสรรพคุณ เช่น Slin พ้องเสียงกับคำว่า Slim Klear พ้องเสียงกับคำว่า Clear โดยรวมถึงคำที่สะกดแล้วไม่มีความหมายใด ๆ แต่เมื่ออ่านแล้วพ้องเสียงหรือพ้องรูป ตรงกับคำอื่น ๆ ที่ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ เช่น W.H.I.T.E = อ้างอิงจากชื่อย่อบุลคล แต่เมื่อเขียนแล้วพ้องรูป กับคำว่า White ที่แปลว่า ขาว จึงไม่ผ่าน Refeat = ไม่มีความหมาย แต่พ้องเสียงแยกออกเป็น 2 คำ คือ Re = ย้อนกลับ , Feat = อ่านแล้วพ้องกับคำว่า Fit เมื่อรวมกันแล้ว เจ้าหน้าที่ อย. ตีความว่า “ย้อนกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง” จึงไม่ผ่าน

5. ไม่เล่นคำ

ไม่เล่นคำ ในที่นี้ หมายถึงชื่ออาหารเสริมนั้น จะไม่ต้องมีการลดทอนเสียงหรือเพิ่มเสียง ที่อาจสื่อถึงสรรพคุณของอาหารเสริมนั้น ๆ เช่น Vac C คล้องกับ Vaccine คำว่า Snowy ที่พอแปลเป็นไทย ไม่มีความหมาย แต่ทาง อย. อาจตีความว่าสะกดคล้ายคำว่า snow ซึ่งแปลว่า หิมะ ซึ่งจะสื่อถึงความขาว ก็อาจทำให้ชื่อในลักษณะนี้ไม่ผ่านการพิจารณาได้

เทคนิคการ ตั้งชื่อแบรนด์ ให้ผ่าน อย.

ตั้งชื่อแบรนด์

การรู้ว่า ตั้งชื่อแบรนด์ยังไงให้ผ่าน อย. จะช่วยให้คุณย่นระยะเวลาการยื่นเรื่องขอจดทะเบียนอาหารเสริมให้สั้นลง ช่วยให้สามารถได้ใบอนุญาตไว อันจะสามารถวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ทันที จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของอาหารเสริมทุกคนควรรู้ โดยเทคนิคการตั้งชื่อแบรนด์ มีดังต่อไปนี้

1. ตั้งชื่อที่แปลโดย Dictionary แล้วไม่มีความหมาย

เมื่ออย. ไม่อนุญาต ให้ตั้งชื่อ ที่พอนำมาแปลแล้ว มีความหมาย ก็ควรพยายามประกอบคำขึ้นมาใหม่ ไม่ก็ตั้งชื่อที่แปลโดย Dictionary แล้วไม่มีความหมาย มาเป็นชื่อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น TATINA , Mokonia , Valensia ฯลฯ

2. มีความหมาย แต่ไม่สื่อถึงสรรพคุณ

หากชื่อนั้น ๆ สามารถแปลความหมายได้ แต่ไม่สื่อถึงสรรพคุณใด ๆ ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้น ก็สามารถนำมาตั้งชื่อแบรนด์ได้ ตัวอย่างเข่น รอยัลเยลลี่ ถึงแม้ว่า รอยัล (Royal) จะแปลว่า เกี่ยวกับเจ้า ดีเลิศ เยี่ยม แต่เนื่องจากไม่สื่อถึงสรรพคุณใด ๆ ของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นนมผึ้ง ซึ่งผลิตจากผึ้งงานเพื่อใช้เป็นอาหารของนางพญาและตัวอ่อนของผึ้ง มีสรรพคุณ ช่วยชะลอการแก่ก่อนวัย มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ทำให้สามารถนำมาเป็นชื่อของอาหารเสริมได้

3. ชื่อบุคคล หรือ ชื่อบริษัท

สามารถนำเอาชื่อ ตัวย่อ ทั้งของบุคคลและบริษัท มาใช้ในการตั้งชื่อได้ โดยต้องไม่สื่อความหมายขัดตามกฎเกณณ์การตั้งชื่อเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • Collagen B โดยอธิบายว่า “B” มาจากชื่อเล่นของลูกค้าผู้จัดจำหน่าย โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นรับรองกำกับว่า “ขอรับรองว่าชื่อ บี เป็นชื่อเล่นของข้าพเจ้านาย/นาง/นางสาว…………………………………………เอกสารนี้ใช้เพื่อยื่นขอ อย. ชื่อผลิตภัณฑ์ Collagen B เท่านั้น”
  • ZEN Collagen โดยอธิบายคำว่า “Z” ย่อมาจากชื่อบริษัท ZEN Biotech Co.,Ltd. โดยต้องแนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัท พร้อมเซ็นรับรอง
  • KB โดยอธิบายคำว่า “KB” มาจากอักษรในภาษาอังกฤษ

ตั้งชื่อแบรนด์ยังไงให้ปัง

ตั้งชื่อ แบรนด์

พอรู้ถึงหลักการตั้งชื่อให้ผ่าน อย. แล้วก็ลองมาดูในแง่การตลาดกันบ้าง เพราะถ้าตั้งชื่อให้ถูกกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ชื่อไม่เก๋ ไม่ปัง ก็อาจทำให้สร้างยอดขายไม่ได้ อันจะทำให้ธุรกิจอาหารเสริมของคุณไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งชื่อผลิตภัณฑ์นั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น จะตั้งชื่อแบรนด์ให้ปัง ควรทำตามขั้นตอนดังนี้

1. ตั้งชื่อไม่เกิน 3 พยางค์

ถือเป็นหลักการตลาดเลยก็ว่าได้ ที่ชื่อแบรนด์ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ต้องตั้งชื่อไม่เกิน 3 พยางค์ เพราะจำนวนเท่านี้ จะทำให้ผู้คนจดจำชื่อแบรนด์ของเราได้ดี ตัวอย่างชื่อแบรนด์ดัง ๆ ที่มี 3 พยางค์ เช่น Starbuck Mcdonald KFC ฯลฯ ดังนั้น ถ้าอยากให้ชื่อแบรนด์อาหารเสริมคุณ จำง่ายแล้วละก็ ควรพยายามตั้งชื่อแบรนด์ไม่เกิน 3 พยางค์นะ

2. ตั้งชื่อแบรนด์ให้มีเรื่องราว

การตั้งชื่อแบรนด์ให้มีเรื่องราว จะช่วยสร้างตัวตนของแบรนด์ หรือที่เรียกว่า Personal Branding ให้แข็งแกร่ง และมีจุดเด่น ซึ่งจะกลายเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ของคุณ ดังนั้น หากชื่อแบรนด์สามารถบ่งบอกถึงที่มา เรื่องราวการผลิต เพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ ก็มีโอกาสสูง ที่จะกลายเป็นแบรนด์ที่ใคร ๆ ก็จดจำ และยิ่งถูกนำไปใช้ในการสื่อสารการตลาด จะช่วยให้ลูกค้าจดจำสินค้าแบรนด์อาหารเสริมของคุณได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

3. ไม่ตั้งชื่อคล้ายกับแบรนด์อื่น

มีหลายผลิตภัณฑ์ไม่น้อย ที่ตั้งชื่อคล้ายกับผลิตภัณฑ์ดังที่มีอยู่ในตลาด เพราะอยากให้คนจดจำง่าย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจกลายเป็นข้อเสีย ที่อาจทำให้อาหารเสริมของคุณขายไม่ออก เพราะจะถูกมองว่าเป็นของเลียนแบบนั่นเอง ทางที่ดีจึงควรมั่นใจในแนวทางของตนเอง ทั้งชื่อแบรนด์ และการทำการตลาด เชื่อว่าหากอาหารเสริมของคุณเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ทานแล้วดีต่อสุขภาพจริง ๆ คนก็จะจดจำ แล้วบอกกันปากต่อปาก จนทำให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์คุณสูงขึ้นได้อย่างแน่นอน

การตั้งชื่อแบรนด์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญหนึ่งในการผลิตอาหารเสริมเพื่อวางจำหน่าย ซึ่งหากตั้งชื่อได้ถูกต้องตามที่ อย. กำหนด แถมยังจำง่าย เรียกได้ติดปาก อีกแล้วละก็ มีโอกาสสูงที่จะต่อยอด ทำการตลาด จนประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น จึงเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจควรให้ความสำคัญ หากคิดอยากทำธุรกิจอาหารเสริม 

หากใครสนใจอยากมีแบรนด์อาหารเสริมเป็นของตัวเอง พร้อมกับอยากตั้งชื่อที่สามารถจดทะเบียนกับ อย. ได้ผ่านฉลุยแล้วละก็ สามารถปรึกษา SGECHEM เพราะเราเป็นโรงงาน OEM รับผลิตอาหารเสริม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการออกแบบ สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และมีบริการจดทะเบียน อย. ให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคุณถูกต้องตามกฏหมาย สามารถวางขายแข่งขันทางการตลาดได้อย่างสบายหายห่วง หากสนใจสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ หรือ Line ของเราได้เลย