เรียบเรียงโดย ด็อกเตอร์อั้ม (Dr. Aum)

“น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)” ช่วยผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิ ประโยชน์ที่มากกว่าความหอม

หลาย ๆ คน คงคุ้นเคยกับ น้ำมันหอมระเหย กันมาอยู่แล้ว นิยมใช้กับเตาอโรม่า เพื่อเพิ่มความหอม สร้างบรรยากาศในบ้านให้ผ่อนคลายนั่นเอง บทความนี้ SGE CHEM จะพาไปทำความรู้จักกับ “น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)” พร้อม 3 กลิ่นแนะนำ เพิ่มสมาธิ ประโยชน์ที่มากกว่าความหอม

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) คือ?

น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากพืช และเก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ เช่น กลีบ ดอก เปลือกของผล เกสร ราก เปลือกของลำต้น หรือยางที่ออกมาจากเปลือกไม้ และระเหยออกมาเป็นไอ ทำให้ได้กลิ่นหอม มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบ ลดบวม หรือกระตุ้นให้สดชื่นได้

น้ำมันหอมระเหย-Essential-Oil-02

นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังมีกลิ่นเฉพาะตัว และน้ำหนักที่เบามาก โดยวิธีสกัดน้ำมันหอมระเหย สามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีทำน้ำมันหอมระเหยแบบการกลั่นไอน้ำ จะได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเป็นวิธีสกัดที่ปราศจากสารแปลกปลอมเจือปน จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์ 100%

การออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหย จะซึมเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสัมผัสผิวหนัง หรือการทานเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว น้ำมันหอมระเหยสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่การได้กลิ่นทางจมูก จะใช้เวลาเพียง 22 วินาทีในการเดินทางไปถึงสมอง จากนั้น ในเวลาเพียง 2 นาที จะสามารถตรวจพบในกระแสเลือด และภายใน 20 นาที จะเดินทางไปยังทุกระบบอวัยวะทั่วร่างกาย

น้ำมันหอมระเหยสกัดได้กี่แบบ?

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย จะแตกต่างกันออกไปตามส่วนที่ต้องการสกัด เช่น ชนิดพันธุ์พืช  ความบริสุทธิ์ที่ต้องการ  สามารถทำได้ 3 วิธี คือ

  • การกลั่นไอน้ำ (Steam Distillation) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนไม่สูง และได้คุณภาพสูง นิยมมากที่สุดทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
  • สกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction) เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับพืชบางชนิด ที่ไม่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ด้วยการกลั่นไอน้ำ เพราะืชมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสะสมที่น้อย ไม่เข้มข้น มีความบอบบางสูง หรือกลิ่นของตัวพืชนั้นถูกความร้อนทำลายได้ง่าย โดยวิธีนี้จะเหมาะกับการสกัดดอกไม้ที่บอบบาง เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกซ่อนกลิ่น เป็นต้น
  • การสกัดแบบสกัดเย็น (Cold Pressed Extraction) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมสกัดพืชหอม เช่น ส้ม มะนาว เบอร์กามอท ที่มีต่อมสะสมน้ำมันหอมระเหยอยู่ใต้เปลือกผิว
Essential-Oil03

กลไกการทำงานของน้ำมันหอมระเหย จะมีองค์ประกอบเคมีอินทรีย์จากพืชธรรมชาติ รวมตัวกันอยู่นับพันชนิด ซึ่งสารต่าง ๆ จะมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับร่างกายของมนุษย์ ทำให้ร่างกายสามารถใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้อย่างเต็มที่

โดยสารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ จะมีขนาดโมเลกุลที่เล็กมาก ๆ สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบฉนวนป้องกัน (Blood-Brain Barrier) เข้าสู่สมอง และประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการทำงานด้านความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนส่วนที่ควบคุมสั่งการผลิตฮอร์โมน และสารสื่อประสาทต่าง ๆ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเดินทางไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ออกฤทธิ์ในการปรับสมดุล และส่งผลต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

3 กลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิ

อยากที่รู้กันว่า น้ำมันหอมระเหยนั้น มีหลากหลายกลิ่นมาก ๆ และช่วยในเรื่องของการผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง และการเพิ่มสมาธิ มีดังนี้

1. น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่ (Rosemary Essential Oil)

น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่ (Rosemary Essential Oil) ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้ในสปาช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยให้รู้สึกสดชื่น มีสมาธิ เสริมสร้างความจำ ช่วยคลายความซึมเศร้า และความอ่อนล้า นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอีกด้วย

  • ชื่อสามัญ: Rosemary Essential Oil
  • ชื่อวิทยาศาสตร์: Rosmarinus officinalis
  • ส่วนที่นำมาใช้: ใบและดอก
  • วิธีการสกัด: สกัดด้วยไอน้ำ
Rosemary-EssentialOil-04

ข้อแนะนำการใช้

  • การกระจายกลิ่นในอากาศ เพื่อเพิ่มความสดชื่น
  • หยด 2-3 หยดในอ่างอาบน้ำในตอนเช้า เพิ่มความสดชื่น หายง่วง
  • ผสม 1-2 % ในแชมพูเพื่อป้องกันรังแค กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม
  • ใช้นวดตัวโดยผสมกับน้ำมันนวด เพื่อช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และผิวหนังช่วยลดอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตได้ดีขึ้น

2. น้ำมันหอมระเหยก้านพลู (Clove Essential Oil)

น้ำมันหอมระเหยกานพลู (Clove Essential Oil) ช่วยบรรเทาอาการปวด ฆ่าเชื้อ ต้านแบคทีเรีย ลดอาการปวดฟัน เลือดออกตามไรฟัน ลดอาการเกร็ง ใช้ผสมน้ำมันนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย บรรเทาข้ออักเสบ คลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่วนมากนิยมใช้ทางด้านอโรมาเทอราปี กลิ่นของกานพลู ช่วยกระตุ้นพลังงานในร่างกาย ช่วยปรับภาวะจิตใจจากอาการซึมเศร้าได้

  • ชื่อสามัญ: Clove Essential Oil
  • ชื่อวิทยาศาสตร์: Syzygium aromaticum
  • ส่วนที่นำมาใช้: เปลือกไม้
  • วิธีการสกัด: สกัดด้วยตัวทำละลาย
Clove-EssentialOil-05

ข้อแนะนำการใช้

  • ผสมในน้ำมันนวด ในอัตราไม่เกิน 1.5% นวดลดอาการปวดกล้ามเนื้อระบบประสาท เนื้อเยื่อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
  • ใช้ในเตาอโรม่า หรือน้ำมันหอมระเหย เพื่อกระจายกลิ่น ช่วยปรับภาวะจิตใจ
  • ใช้ผสมเครื่องสำอาง โลชั่นบำรุงผิว ครีมอาบน้ำ แชมพู เป็นต้น

3. น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส (Eucalyptus Essential Oil)

น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส (Eucalyptus Essential Oil)ช่วยฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ใช้ผสมน้ำในนวด เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อต่อ หรือรักษาแผล กลิ่นของมันช่วยในเรื่องปัญหาระบบทางเดินหายใจใช้สูดดมได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยให้หายใจโล่ง ปลอดโปร่งและมีสมาธิ

  • ชื่อสามัญ: Eucalyptus Essential Oil
  • ชื่อวิทยาศาสตร์: Eucalyptus Globulus Labille
  • ส่วนที่นำมาใช้: ใบ
  • วิธีการสกัด: สกัดด้วยไอน้ำ
Eucalyptus-EssentialOil-06

ข้อแนะนำการใช้

  • กระจายกลิ่นในอากาศ เพื่อเพิ่มความสดชื่น บำรุงหายใจ
  • ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก
  • ใช้เป็นยาฆ่าแมลง นำมาสผสมน้ำแล้วฉีดสเปรย์ให้ทั่วบริเวณที่ต้องการ
  • นำมาผสมน้ำมันนวด เพื่อบรรเทาอาการปวด

น้ำมันหอมระเหยถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของการใช้ด้วย บางกลิ่นอาจไม่เหมาะแก่ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งนี้หากไม่แน่ใจว่าตนเองสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดใดได้หรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกมาใช้

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

SGE CHEM ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมส่งต่อสินค้าที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เข้าชมเว็บไซต์ sgechem.com