❝ หลายคนเคยรู้ไหมว่าสารเคมีใดบ้างที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมความงามทั้งหลาย ซึ่งหนึ่งในสารอันตรายเหล่านั้นคือ พาราเบน (Paraben) หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า สารกันเสีย นั่นเอง มักนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่าง ๆ เช่น ครีม แชมพู สบู่ เป็นต้น และสารตัวนี้เป็นอันตรายต่อผิวหรือไม่อย่างไร? ❞
วันนี้ SGE CHEM จะพาไปไขข้อข้องใจ และทำความรู้จักกับสารพาราเบน ว่าจะเป็นอันตรายต่อผิวพรรณของเราหรือไม่นะ! ในบทความนี้มีคำตอบอย่างแน่นอน ?
พาราเบน(Paraben)คืออะไร?
พาราเบน(Paraben) คือ สารที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นสารกันเสีย ซึ่งสารพาราเบนนี้ เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอางหรือของใช้ต่าง ๆ เช่น ครีมทาผิว, สบู่, แชมพู, โรออน เป็นต้น เพราะสารพาราเบน มีส่วนช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย และเชื้อราได้ดี มีการใช้มาตั้งแต่อดีตได้รับการยอมรับว่า ปลอดภัยที่จะผสมในผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ยา และเครื่องดื่มอีกด้วย

พาราเบนที่มักใช้ในเครื่องสำอาง มีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันพาราเบนที่ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ได้แก่ Methylparaben, Propylparaben และ Butylparaben มาใช้ร่วมกันหลายชนิดเพื่อยับยั้งจุลินทรีย์ได้หลายหลากกลุ่ม เเละสารกันเสียเหล่านี้สามารถนำมาใส่ในเครื่องสำอางได้ในอัตราส่วนที่กำหนดไว้ เช่น ในสหภาพยุโรป อนุญาตให้ใช้สารนี้ในเครื่องสําอางได้โดยมีเงื่อนไขให้เลือกสาร 1 ชนิดใส่เป็นสารกันเสียได้ในอัตราส่วนไม่เกินเกิน 0.4% หากใช้หลายชนิดร่วมกัน ให้ใช้ในอัตราส่วนสูงสุดไม่เกิน 0.8% เป็นต้น

สารพาราเบนที่ผสมในเครื่องสำอางไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังจริงหรือ?
อาจทำให้หลายคนเกิดความกังวลและสงสัยว่า ถ้าเราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบนอยู่เป็นประจำจะเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพผิวและร่างกายของเราบ้าง ต้องบอกก่อนว่าสารพาราเบนที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอาง หรือแชมพูทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ Methylparaben, Propylparaben และ Butyparaben ในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น และยังผสมกับสารเคมีอื่น ๆ เพื่อช่วยกันยับยั้งจุลินทรีย์หลาย ๆ กลุ่มพร้อมกันนั่นเอง
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามในประเทศไทยผสมพาราเบนในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก จึงไม่มีก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อผิวพรรณอย่างแน่นอน ซึ่งตามกฎหมายไทยแล้วอนุญาติให้ใช้สารตัวนี้ให้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้
👉 โดยสำนักงาน อย.ทั่วโลกก็ยังคุ้มครองและอนุญาตให้ใช้สารพาราเบนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่ อย.อนุญาตให้ใช้เฉพาะสารกันเสียที่เป็นพาราเบนเท่านั้น
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบน ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของการตั้งครรภ์ เช่น
ความผิดปกติของพัฒนาการ | ภาวะการมีบุตรยาก | การแท้งบุตร |
การคลอดก่อนกำหนด | ความพิการแต่กำเนิด | สเปิร์มไม่สมบูรณ์ |
โรคอ้วน | โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร | ความหนาแน่นต่อกระดูก |
แม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ แต่พาราเบนก็ได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าปลอดภัย เมื่อใส่ในปริมาณที่กำหนด คือ ไม่เกิน 0.25% ดังนั้นเรายังสามารถพบสารพาราเบนได้ในผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เราใช้กันทุกวัน
ข้อควรระวัง
สารกลุ่มพาราเบน เป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย และไม่พบการก่อให้เกิดพิษอันตราย อย่างไรก็ตามวารสารทางวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า เมื่อให้พาราเบนแก่หนูด้วยการรับประทาน พาราเบนจะออกฤทธิ์เลียนแบบ (mimic) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยกลไกการออกฤทธิ์พบว่าพาราเบน จะถูกเมแทบอไลส์ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซีสโดยเอนไซม์เอสเทอร์เรส (esterase enzyme) ทำให้สูญเสียหมู่เอสเทอร์ ได้สารเมแทบอไลส์ คือ กรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก ที่สามารถจับกับ estrogen receptor ในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่า พาราเบนก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมในสตรี และมีบางการศึกษารายงานว่า การใช้เครื่องสำอางประเภทที่ใช้บริเวณผิวหนัง เช่น สเปรย์ฉีดร่างกาย หรือยาระงับกลิ่นกายที่มีพาราเบน พบว่าพาราเบน ดูดซึมผ่านผิวหนังต่ำมาก และถูกเมแทบอไลส์ด้วยเซลล์ที่ผิวหนังได้สารที่ไม่มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน แม้ว่ายังมีรายงานที่ขัดแย้งกัน การใช้เครื่องสำอางที่มีพาราเบน ควรใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อผู้ใช้เกิดผื่นแพ้ ควรหยุดการใช้เครื่องสำอางนั้น ๆ ทันที และสังเกตว่าผื่นค่อย ๆ หายไปหรือไม่ ?