ยาสีฟัน เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันเราเลยก็ว่าได้ เพราะทุกคนต้องใช้ในทุก ๆ เช้า และทุกคืนก่อนเข้านอน แต่เคยรู้หรือไม่ว่า มีอะไรอยู่ข้างในบ้าง ที่ทำให้ใช้แล้วฟันขาว สวย ป้องกันฟันผุ พร้อมให้กลิ่นสดชื่นตลอดทั้งวัน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากรู้ว่า ยาสีฟัน มีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง ทำให้ฟันขาว ช่วยบำรุงดูแลสุขภาพฟันได้อย่างไร SGECHEM จะพาทุกคนมารู้จักกับ ยาสีฟัน แบบเจาะลึก พร้อมประวัติ ส่วนผสม และกระบวนการผลิตที่จะทำให้คุณรู้จัก ยาสีฟัน มากขึ้น

ยาสีฟัน มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ยาสีฟัน

ยาสีฟัน มีมานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีก่อน โดยชาวอียิปต์ ใช้สมุนไพรมาแปะฟัน เพื่อทำความสะอาด นับเป็นยาสีฟันแบบแรก ที่เริ่มมีบันทึกการใช้งาน โดยส่วนผสมของยาสีฟันในยุคโบราณ มักใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ชาวกรีก – โรมัน นำกระดูกบดและเปลือกหอยนางรม มาเป็นส่วนผสม และใส่ถ่านผงและเปลือกไม้ เพื่อช่วยบรรเทากลิ่นปาก ในจีนโบราณ มีการผสมโสม มินต์ สมุนไพรและเกลือ ลงไปด้วย

เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มมีการใส่สารเคมีต่าง ๆ ลงไปในยาสีฟัน โดยในค.ศ. 1914 มีการเพิ่มสารฟลูออไรด์ลงในยาสีฟัน เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ แล้วก็ยังมีการพัฒนายาสีฟัน ที่ช่วยลดการสึกกร่อนของฟัน เพื่อลดปัญหาแปรงสีฟันมีความแข็ง ในค.ศ.1945 รูปแบบยาสีฟันจึงค่อยเริ่มเป็นในแบบที่เรารู้จักกัน เมื่อมีการใช้ส่วนผสมที่ทำให้ยาสีฟันเป็นรูปแบบอีมัลชั่นหรือเนื้อยาสีฟันนุ่ม ๆ  ทำให้มีลักษณะเป็นเนื้อครีม และมีการเติมสี กลิ่น และสารให้ความหวาน ให้น่าใช้งานมากขึ้น จนกระทั่งถูกพัฒนากลายเป็นยาสีฟันแบบที่เราใช้กันจนถึงปัจจุบัน

กระบวนการผลิตยาสีฟัน ทำอย่างไร

ยาสีฟัน

ยาสีฟันในปัจจุบัน มีการเพิ่มสารต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ดูแลรักษาสุขภาพฟันได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังมีการเพิ่มกลิ่น รสชาติ ที่หลากหลาย เพื่อความพึงพอใจของผู้คนเวลาใช้งาน ทำให้กระบวนการผลิตมีความซับซ้อนและหลายขั้นตอนมากกว่าในอดีต เริ่มจากนำวัตถุดิบนานาชนิดมาผสมลงในเครื่องผสมขนาดเล็กเพื่อทำให้เป็นผงและเข้ากันได้สนิท  แล้วนำวัตถุดิบชนิดเหลวมาผสม  กวนให้เข้ากันแล้วนำไปผ่านเครื่องผสมขนาดใหญ่ ซึ่งจะกวนให้สารทั้งหมดรวมตัวกัน โดยใช้ความร้อนสูง 70 – 80  องศาเซลเซียส  จนตัวยามีลักษณะข้นเหนียว  ต่อจากนั้น จึงนำตัวยาไปตรวจคุณภาพมาตรฐานเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ บางบริษัทอาจเติมวัตถุดิบบางชนิด ก่อนที่จะนำตัวยาไปเข้าเครื่องผสมระบบสุญญากาศ  โดยที่เครื่องจะกวนในอุณหภูมิ  30 – 60  องศาเซลเซียสประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง  หลังจากนั้นจะมีการดูดอากาศออกจนเป็นสูญญากาศ แล้วจึงหล่อด้วยน้ำเย็นเพื่อให้คลายความร้อน เมื่อเย็นดีแล้วจะต้องนำตัวยาไปตรวจคุณภาพอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัวยาจะผสมเป็นเนื้อเดียวกัน สม่ำเสมอ ไม่บูดแล้วจึงนำไปอบที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 72  ชั่วโมง  จากนั้น นำตัวยาเข้าสู่ถังเก็บยาสีฟัน  ทำการกรอง  แล้วจึงนำสู่เครื่องบรรจุหลอดอัตโนมัติเพื่อนำออกจำหน่าย

ส่วนผสมของยาสีฟัน มีอะไรบ้าง

Toothpaste

เมื่อคุณใช้ยาสีฟัน แปรงฟันในแต่ละวัน เคยนึกสงสัยมั้ยว่า ส่วนผสมของยาสีฟันมีอะไรบ้าง อะไรทำให้ฟันขาว ป้องกันฟันผุได้ อะไรทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม รวมถึงเกิดฟองระหว่างแปรงออกมา นั่นก็เป็นเพราะยาสีฟันมีส่วนผสมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. สารป้องกันฟันผุ

สารป้องกันฟันผุ เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาสีฟัน เพราะถือเป็นจุดมุ่งหมายในการแปรงฟันของเราเลยก็ว่าได้ โดยสารป้องกันฟันฝุที่สำคัญคือ ฟลูออไรด์ ทำหน้าที่เคลือบฟัน ป้องกันการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรีย รวมทั้งกรดในอาหารด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟันนั้น จะมีความเข้มข้น 1 กรัมในยาสีฟัน 1 มิลลิลิตร ส่วนอีกสารชนิดหนึ่งที่ป้องกันฟันผุได้เช่นกันก็คือ ไซลีทอล (Xylitol) โดยยาสีฟันสูตรไซลีทอล จะเป็นมิตรกับเด็กเล็กมากกว่าสูตรฟลูออไรด์ เนื่องจากหากเด็กได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป อาจทำให้ฟันตกกระได้

2. สารขัดฟัน (Abrasives)

มีลักษณะเป็นอนุภาคละเอียดขนาดเล็ก ช่วยในการขัดผิวฟัน ช่วยลดการเกิดคราบสะสม คราบหินปูนที่เกิดขึ้นบนตัวฟัน สารขัดฟันที่ใช้กันได้แก่ ซิลิกา แคลเซียมฟอสเฟต, อะลูมินา, แคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ซิลิกอนไดออกไซด์

3. สารชำระล้าง (Detergents)

เป็นตัวที่ช่วยลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่แทรกซึม ชะล้างให้สิ่งสกปรกที่เกาะบนผิวฟันหลุดออกได้ง่ายด้วยแปรงสีฟัน ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และยังทำให้เกิดฟองระหว่างแปรงฟัน โดยสารชำระล้างที่ใช้ ได้แก่ Sodium Lauryl Sulfate (โซเดียม ลอริล ซัลเฟต)

4. สารเพิ่มความชื้น (Humectants)

ช่วยรักษาความอ่อนนุ่มของยาสีฟัน ทำให้ยาสีฟันคงตัว และไม่แห้งเมื่อสัมผัสอากาศ มีสารกลีเซอรีน (glycerin) และ ซอร์บิทอล (sorbital) เป็นส่วนประกอบสำคัญ

5. สารทำให้ข้น (Thickeners)

เป็นสารที่ป้องกันการแยกตัวขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นของแข็งออกจากของเหลว เพื่อให้สารประกอบคงตัวและเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในยาสีฟัน โดยส่วนใหญ่มักใช้ คาราจีแนน (Carrageenan) เซลลูโลส กัม (cellulose gum) กวา กัม (guar gum) แซนแทม กัม (xanthan gum) กลูเตน (gluten) และ โพลิเอทีลีน กลีคอล (Polyethylene glycol) เป็นส่วนประกอบ

6. สารกันเสีย (Preservatives) 

ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในยาสีฟัน สารนี้จะผสมอยู่ในยาสีฟันในปริมาณน้อย ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ สารกันเสียที่นิยมใช้ ได้แก่ โซเดียม เบนโซเอท (Sodium benzoate) เมทิลพาราเบน (methylparaben) เอทิลพาราเบน (ethylparaben) สาร BHT

7. สารแต่งสี (coloring agents) 

เป็นสีที่ไม่ก่อให้เกิดการติดสีบนตัวฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก

8. สารแต่งกลิ่น (flavoring agents)

ทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม กลบกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ในยาสีฟัน โดยกลิ่นที่เป็นที่นิยม ก็คือ เปปเปอร์มิ้นท์ (peppermint) สเปียร์มิ้นท์ (spearmint)

9. สารให้ความหวาน (sweeteners)

ยาสีฟันส่วนใหญ่จะถูกปรุงแต่งให้มีรสหวานด้วยสารสังเคราะห์ที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ เช่น ซอร์บิทอล (sorbitol) กลีเซอรอล (glycerol) และไซลิทอล (xylitol) คาปริกไตรกลีเซอไรด์ (Capric Triglyceride) เป็นต้น

ยาสีฟันแบบไหนที่คุณควรเลือกใช้

Toothpaste

ไม่ใช่ทุกยาสีฟันที่จะมีส่วนผสมต่างเหล่านี้ทั้งหมด เพราะบางผลิตภัณฑ์ก็มีสูตร รวมถึงสรรพคุณในการดูแลฟันต่าง ๆ กันไป ดังนั้น การเลือกใช้ยาสีฟัน อาจต้องพิจารณาจากจุดมุ่งหมายในการใช้ยาสีฟันของคุณว่า ต้องการบำรุงสุขภาพฟันและช่องปากแบบไหน เช่น

1. ป้องกันฟันผุ

หากต้องการป้องกันฟันผุเป็นสำคัญ ควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เพราะสามารถป้องกันฟันผุได้ดีที่สุด โดยองค์การอนามัยโลกถึงกับเสนอให้ประชาชนใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นหลัก ส่วนใหญ่แล้ว ยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่จะมีฟลูออไรด์อยู่ 1,000 ส่วนใน 1 ล้านส่วน หรือ 1,000 พีพีเอ็ม ในขณะที่ยาสีฟันสำหรับเด็ก จะมีฟลูออไรด์อยู่ 500 ส่วนใน 1 ล้านส่วน หรือ 500 พีพีเอ็ม

สาเหตุที่ยาสีฟันสำหรับเด็ก มีปริมาณฟลูออไรด์ลดลงครึ่งหนึ่ง ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟันลงไป ซึ่งจะทำให้เด็กบริโภคฟลูออไรด์เกินขนาด จนเกิดผลข้างเคียงและอันตรายขึ้นได้ โดยหากต้องการลดความเสี่ยง สามารถซื้อยาสีฟันผสมไซลีทอลให้ใช้แทนได้

2. ฆ่าเชื้อโรค รักษาเหงือก

ยาสีฟันที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ดีและรักษาเหงือกได้นั้น คือ ยาสีฟันที่ผสมสารเคมีหรือสารสกัดจากสมุนไพร เช่น ไตรโคซาน ไทมอล น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ โดยสารเล่านี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ซึ่งจากผลการทดสอบในผู้ป่วยโรคเหงือก พบว่า หลังการใช้งาน รู้สึกเหงือกกระชับแน่นขึ้น ไม่อักเสบบวมแดงอย่างที่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ทำให้ป้องกันฟันผุไม่ได้ ใครที่ฟันผุง่าย จึงไม่ควรใช้ยาสีฟันสูตรนี้

3. ลดอาการเสียวฟัน

ยาสีฟันสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ เมื่อมีส่วนผสมประกอบด้วย สตอนเทียม คลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งจะไปอุดรูที่เนื้อฟัน ทำให้รู้สึกเสียวลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้แปรงที่มีความแข็งในการแปรงฟัน เพราะอาจทำให้คอฟันสึกลึกลงไปกว่าเดิม

4. ทำให้ฟันขาวขึ้น

ถือเป็นจุดขายของยาสีฟันแบรนด์ดังหลายเจ้าเลยก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ประกอบด้วยซิลิกา (Silica) แคลเซียม ไพโรฟอสเฟต (Calcium Pyrophosphate) ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ที่จะทำหน้าที่ขจัดคราบสีที่ติดอยู่บนตัวฟันออก อย่างไรก็ตาม หากใช้ไปนาน ๆ อาจขัดผิวฟันออกมากเกินไป จนทำให้เคลือบฟันสึกและบางลงได้ ทางที่ดีไม่ควรใช้มากจนเกินไป แต่ใช้ยาสีฟันสูตรอื่นบ้าง เพื่อให้ดูแลสุขภาพเหงือกและฟันได้อย่างทั่วถึง

5. ลดกลิ่นปาก

ถึงแม้ยาสีฟันแทบทุกยี่ห้อ จะทำกลิ่นออกมาได้หอม จนแม้แต่เราเองก็สัมผัสได้ แต่จากรายงานทางวิชาการยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้แน่ชัดว่า ยาสีฟัน สามารถช่วยลดกลิ่นปากได้จริง เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้น ส่วนใหญ่ทนต่อสารเคมีในยาสีฟันมาก การแก้ปัญหากลิ่นปากโดยใช้ยาสีฟันอย่างเดียวอาจไม่พอ ควรวิเคราะห์ถึงปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้แก้ปัญหากลิ่นปากได้อย่างตรงจุด

ถึงแม้ส่วนผสมที่ใส่ในยาสีฟัน จะมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน แต่ยาสีฟันอย่างเช่น สูตรฟลูออไรด์ ก็อาจเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กอายุยังน้อย ดังนั้น การเลือกใช้งานตลอดจนการผลิต ควรคำนึงถึงส่วนผสมของยาสีฟันนั้น ๆ ด้วย ว่าปลอดภัยต่อกลุ่มผู้ใช้งาน และช่วงอายุของผู้ใช้หรือไม่ เพื่อช่วยบำรุงสุขภาพฟันและช่องปากของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากใครสนใจอยากผลิต ยาสีฟัน เพื่อจำหน่ายามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ SGECHEM เพราะเราเป็นโรงงาน OEM ที่รับผลิตยาสีฟันครบวงจร มีมาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการออกแบบ สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และมีบริการจดทะเบียน อย. ให้ยาสีฟันของคุณถูกต้องตามกฏหมาย สามารถวางขายแข่งขันทางการตลาดได้หากสนใจสามารถคลิกลิ้งก์เว็บไชต์ที่ https://sgechem.com/ หรือติดต่อทางโทรศัพท์ หรือ Line ของเราได้เลย