เราทุกคนล้วนเคยผ่านการสัมผัสกับสารเคมีมาทั้งนั้น แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จักกับ สารปรอท จัดได้ว่าเป็นสารเคมีประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญของระบบอุตสาหกรรม เพราะปรอทหรือสารประกอบของปรอทเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการใช้กับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการทำหมวกสักหลาด, ใช้ในการทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น เทอร์โมมิเตอร์, บารอมิเตอร์ ใช้ในการทำวัตถุระเบิด และอื่น ๆ แต่ก็มีพิษที่ร้ายแรงไม่ต่างกันเลย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้อันตรายต่าง ๆ จากสารปรอทให้ดีด้วยว่ามีความน่ากลัวอย่างไรบ้าง?
❝ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้นำสารปรอทนี้มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเร่งขาว ครีมหน้าขาวต่าง ๆ มากมาย ❞
ในบทความนี้ SGE CHEM จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารปรอทให้มากขึ้นกัน . . . ?
ปรอท (Mercury) คืออะไร?
เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งอยู่ในกลุ่มธาตุแทรนซิซัน สัญลักษณ์ของธาตุคือ Hg มีมวลอะตอม 200.589 กรัมต่อโมล จุดหลอมเหลว -38.83°C จุดเดือด 356.73°C ความหนาแน่น 13.53 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับน้ำที่มีความหนาแน่นเท่ากับ 1 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตรและด้วยความหนาแน่นที่มากสามารถทำให้ตะกั่วและเหล็กลอยอยู่ได้เมื่อใส่ลงไปในปรอท ลักษณะทางกายภาพเป็นของเหลวสีเงินและสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิปกติ
คุณสมบัติเฉพาะของปรอท (Mercury)
ชื่อ, สัญลักษณ์, เลขอะตอม | ปรอท, Hg, 80 |
เลขทะเบียน CAS | 7439-97-6 |
อนุกรมเคมี | โลหะทรานซิชัน |
ลักษณะ | สีเงินยววง |
มวลอะตอม | 200.59 (2) กรัม/โมล |
สถานะ | ของเหลว |
ความหนาแน่น (ใกล้ r.t.) | (ของเหลว) 13.534 ก./ซม.³ |
จุดหลอมเหลว | 234.32 K (-38.83 °C) |
จุดเดือด | 629.88 K(356.73 °C) |
ความร้อนของการหลอมเหลว | 2.29 กิโลจูล/โมล |
ความร้อนของการกลายเป็นไอ | 59.11 กิโลจูล/โมล |
ความร้อนจำเพาะ | (25 °C) 27.983 J/(mol·K) |
ความต้านทานไฟฟ้า | (25 °C) 961 nΩ·m |
การนำความร้อน | (300 K) 8.30 W/(m·K) |
การขยายตัวจากความร้อน | (25 °C) 60.4 µm/(m·K) |
อัตราเร็วของเสียง | (ของเหลว, 20 °C) 1451.4 m/s |
สารปรอทถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมายมาเป็นเวลานาน แต่ปรอทก็มีโทษเช่นกัน ปรอทบางรูปแบบ สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ ได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย สามารถทำให้เกิดพิษจากปรอท นำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
ปรอท เป็นโลหะที่เป็นพิษ ซึ่งอยู่ในรูปของเหลว มนุษย์นําปรอทไปใช้ผสมหรือเจือโลหะต่าง ๆ เช่น ทองคํา เงิน และทองแดง ที่เรียกว่า “อะมัลกัม (Amalgam)” วัสดุที่นําไปใช้ในการอุดตัน ใช้เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเป็นองค์ประกอบของยาปราบศัตรูพืช และสัตว์
อันตรายจากสารปรอท เป็นแบบไหนบ้างนะ?
อันตรายจากสารปรอทนั้น สามารถพบได้ 2 ประเภท อันได้แก่ ประเภทแบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง ดังนี้
อันตรายชนิดเฉียบพลัน
ส่วนมากอันตรายที่เกิดจากปรอทชนิดที่เฉียบพลัน ถ้าหากอยู่ในวงการของอุตสาหกรรม พนักงานที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับปรอทโดยตรงอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์ความอันตรายชนิดเฉียบพลันในทันที เว้นแต่เกิดการสูดดมเข้าไปในปริมาณที่มากทันทีทันใด จะเกิดอาการปวดศีรษะ ไอ หลังจากนั้นอีกสักพักจะเริ่มมีอาการเป็นไข้ หายใจไม่สะดวก ปากเปื่อยและเป็นแผลอักเสบ บางรายที่เป็นในขั้นรุนแรงเฉียบพลันอาจมีอาการปอดบวมและหลอดลมอักเสบเฉียบพลันด้วย หรือบางคนเมื่อเกิดอันตรายชนิดเฉียบพลันก็อาจจะท้องเสียขึ้นตามมาด้วย
อันตรายชนิดเรื้อรัง
ถ้าเป็นอันตรายชนิดเรื้อรังนั้นสารปรอทจะสร้างความน่ากลัวได้มากกว่า โดยพิษเหล่านั้นจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จึงค่อย ๆ แสดงอาการออกมาให้เห็น ดังนี้
- อาการของระบบทางเดินอาหาร น้ำลายมักจะไหลมากกว่าปกติ ปวดบริเวณเหงือกและฟัน เลือกออกได้ง่าย ลำไส้ใหญ่เกิดอาการอักเสบ ปวดท้องบ่อย
- อาการทางระบบกล้ามเนื้อ จะเกิดอาการสั่นและกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นประจำบริเวณเปลือกตา, ลิ้น, ริมฝีปาก หรือนิ้วมือมาแบบเป็นช่วง ๆ
- อาการทางระบบประสาท จะเป็นคนขี้โมโห อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เก็บอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หรือความจำเสื่อม
- อาการทางผิวหนัง เกิดอาการอักเสบ บวมแดงในบริเวณที่สัมผัสเป็นเวลานาน
อันตรายของสารปรอท เข้าสู่ร่างกายได้ทางไหนบ้าง?
- เข้าทางผิวหนัง ส่วนมากจะพบกับคนที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่มีสารปรอท โดยปรอทเหล่านี้จะระเหยอยู่ในชั้นบรรยากาศหรือฝุ่นละออง รวมไปถึงในเครื่องสำอางที่เอาไว้ใช้ทางภายนอกด้วย
- เข้าทางปาก การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำบางชนิดที่มีส่วนผสมของสารปรอท
- เข้าทางการหายใจ คือการที่สูดดมสารปรอทเข้าไปโดยตรง ส่วนมากแล้วเมื่อสูดดมเข้าไปก็จะตกค้างอยู่บริเวณจมูก
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
อาการที่แสดง เมื่อพิษสารปรอทเข้าสู่ระบบในร่างกาย
ระบบทางเดินอาหาร | อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง |
ระบบทางเดินปัสสาวะ | บวม การทำงานไตผิดปกติ |
ระบบประสาท | กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติ เดินเซ การมองเห็นผิดปกติ อารมณ์เปลี่ยนแปลง |
ระบบผิวหนังและเยื่อบุ | เยื่อบุเปลี่ยนสีเทา เหงือกสัมผัส ผื่นแพ้สัมผัส ผิวขาว ผิวเข้มขึ้น |
ระบบโลหิต | ภาวะซีด |
ระบบทางเดินหายใจ | กดทางเดินหายใจ การหายใจล้มเหลว |
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
ผลข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีสารปรอท
- อาจก่อให้เกิดอาการแพ้เกิดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- ผิวหนังเกิดอาการคันระคายเคืองหรือเกิดการไหม้ ผิวจะบาง แดง แพ้
- ทำให้ผิวคล้ำลงกว่าเดิม จนผิวหน้ากลายเป็นสีปรอทหรือสีดำอมเทา
- หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเกิดการสะสมของสารปรอทอยู่ใต้ผิวมีโอกาสที่จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียความควบคุม เสียการรับรู้ เช่นการมองเห็น และการได้ยิน
- ในกรณีที่มารดาที่ตั้งครรภ์และได้รับสารปรอท ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารก ทำให้สมองพิการและปัญญาอ่อน
? จากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว-หน้าใส เพื่อตรวจสอบคุณภาพจากหลายหน่วยงานพบว่า จำนวนถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่มีสารปรอทในปริมาณสูงปนอยู่ในระดับหลายพันถึงหลายหมื่นส่วนในล้านส่วน ปรอทถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม125 ตอนพิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดชื่อสารห้ามใช้ คือ “ปรอท และสารประกอบของปรอท”
กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว
สารปรอทที่ใช้อยู่ในรูปของไดวาเลนซ์แคทไอออน (mercuric (II) ion, Hg2+) จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย
ประโยชน์ของสารปรอทก็มีนะ!
นอกจากโทษที่ได้กล่าวเบื้องต้นแล้วสารปรอทยังมีข้อดีเหมือนกัน เช่น ในสีทาบ้านนั้นก็มีส่วนผสมของสารปรอทเหมือนกัน เพื่อให้สีมีความคงทนและมีอายุการใช้งานที่นาน และอีกหนึ่งคุณสมบัติคือ สามารรถสะท้อนแสงได้ ทำให้ทนต่อแสงแดดได้ดี หรือของใช้ทั่วไปในบ้านของเราก็มีส่วนประกอบที่มีส่วนประกอบของสารปรอท แต่ไม่เป็นอันตรายเพราะว่าสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้มีการสัมผัสกับผิวหนังเราโดยตรง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผิวหนังของเรา เช่น หลอดไฟ ก็มีการเคลือบสารปรอทเพื่อให้เกิดความเงา และเพิ่มความสว่างไปในตัวอีกด้วย
❝ เมื่อรู้ถึงประโยชน์และโทษของสารปรอทกันแล้ว หวังว่าจะทำให้ใครหลาย ๆ คนตระหนักถึงการเลือกเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวต่าง ๆ อย่างมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผิวเรานั่นเอง ❞
Leave A Comment