เรียบเรียงโดย ด็อกเตอร์อั้ม (Dr. Aum)

รู้จักกับ “เชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส”  คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร?

หลาย ๆ คน อาจจะเคยสงสัยว่า อาการป่วย เกิดจากอะไรกันแน่? ระหว่าง เชื้อไวรัส และ เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถทำให้เราเจ็บป่วยได้เหมือนกัน เพราะเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่กระจายผ่านการไอ จาม จูบ รวมถึงการสัมผัสวัตถุจากผู้ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ การทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ก็ทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน

แต่รู้ไหมว่า แบคทีเรีย กับ ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะหลาย ๆ อย่างแตกต่างกันมาก ตาม SGE CHEM ไปทำความรู้จัก “เชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส”  ให้มากขึ้นกัน

เชื้อแบคทีเรีย คืออะไร?

แบคทีเรีย (bacteria) เป็นเซลล์ที่มีชีวิต มีขนาดเล็กที่สุด ช่วงขนาดของแบคทีเรียเริ่มตั้งแต่แบคทีเรียที่เล็กพอ ๆ กับ เชื้อไวรัส ที่ใหญ่ที่สุด ไปจนถึงเซลล์แบคทีเรียที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 0.1-600 ไมโครเมตร แบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ Mycoplasma และแบคทีเรียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ Epulopiscium fishelsoni

เชื้อแบคทีเรีย-02

โดยแบคทีเรีย จะมีผนังแข็งด้านนอกสุด และถัดเข้ามาเป็นเยื่อหุ้มบาง ๆ ล้อมรอบของเหลวภายในเซลล์ไว้ สามารถเพิ่มจำนวนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และอยู่รอดได้ในสถานที่ที่แตกต่างกันไป เช่น สถานที่ที่ร้อนหรือเย็นจัด หรือในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งอยู่แล้วก่อให้เกิดโรค และไม่เกิดโรค

ประเภทของเชื้อแบคทีเรีย 

  • แบ่งตามรูปร่าง จะแบ่งได้ คือ แบคทีเรียรูปร่างกลม (Cocci) และแบคทีเรียรูปร่างแท่ง (Bacilli)
  • แบ่งตามส่วนประกอบบนผนังและเยื่อหุ้มเซลล์ จะแบ่งได้ คือ แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) และ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) เมื่อย้อมด้วยสีแกรม จะมองเห็นสีแตกต่างกัน
  • แบ่งตามการใช้ออกซิเจน จะแบ่งได้ คือ แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และ แบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการเจริญเติบโต

การติดเชื้อแบคทีเรีย 

แบคทีเรีย(bacteria) จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดพิษ ที่ทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้ แม้ว่าแบคทีเรียส่วนใหญ่ จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่แบคทีเรียบางส่วน ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บป่วย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ ดังนี้

  • การติดเชื้อผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ มีฝี หนอง ขึ้นที่ผิวหนังบริเวณติดเชื้อ เป็นต้น แบคทีเรียที่ทำให้ติดเชื้อเหล่านี้ คือ แบคทีเรียแกรมบวกรูปร่างกลม และยังมีแบคทีเรีย anaerobic บางชนิดที่ทำให้เกิดสิวด้วย
  • การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ทอนซิลอักเสบ คออักเสบ เป็นต้น โดยอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่ทำให้ติดเชื้อเหล่านี้ มีหลายชนิด และอาจก่อความรุนแรง จนทำให้เกิดโรควัณโรคได้
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยปกติทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรคอาศัยอยู่ แต่บางครั้งอาจติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ จนเกิดการอักเสบและลุกลามมายังทางเดินปัสสาวะส่วนบนได้
  • การติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาหารเป็นพิษ และโรคลำไส้อักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบิด เกร็งท้อง และท้องร่วง แบคทีเรียที่ทำให้ติดเชื้อเหล่านี้ เกิดจากเชื้อหลายชนิด รวมถึงอหิวาตกโรคด้วย
  • การติดเชื้อระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองในแท้  และโรคหนองในเทียม สาเหตุมาจากแบคทีเรีย ที่ติดต่อกันได้ทางการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง
  • การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก เกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด หรือแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แบคทีเรียบางชนิด ยังสามารถสร้างสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทได้ เช่น แบคทีเรียที่ก่อโรคบาดทะยัก
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากแหล่งอื่น ๆ และลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดไปยังทั่วร่างกาย เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว อาจมาจากระบบ หรืออวัยวะใดก็ได้ และเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น ถือเป็นภาวะรุนแรงฉุกเฉิน ที่อาจทำให้ผู้ป่วยช็อก และเสียชีวิตได้
เชื้อแบคทีเรีย-03

การรักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย 

หลังจากติดเชื้อแบคทีเรีย มีการรักษาได้หลายรูปแบบ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะ สามารถทานได้ตามความเหมาะสม แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • การผ่าตัด เช่น โรคฝี หรือการให้เซรุ่ม หรือรักษาตามอาการ
  • การฉีดวัคซีนสำหรับโรคที่มีการผลิตวัคซีนแล้ว เช่น โรคไอกรนและบาดทะยัก เป็นต้น

เชื้อไวรัส คืออะไร?

ไวรัส (Virus) เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง มีขนาดตั้งแต่ 20-300 นาโนเมตร (Nanometre) ซึ่งเล็กกว่าแบคทีเรียมาก ๆ มีเพียงกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron microscope) ที่เห็นตัวไวรัสได้

เชื้อไวรัส-04

ไวรัสมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักที่เคลือบอยู่ชั้นผิวภายนอก และเป็นศูนย์กลางของสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส โดยไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช ไม่สามารถเจริญเติบโต หรือเพิ่มจำนวนภายนอกเซลล์ได้ ต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในการเพิ่มจำนวน และไวรัสแต่ละชนิด สามารถอาศัยอยู่ในเซลล์ที่แต่ต่างกัน

ประเภทของเชื้อไวรัส

  • แบ่งตามชนิดของสารพันธุกรรมนิวคลีอิคแอซิด (Nucleic acid) ที่ศูนย์กลางของตัวไวรัส เป็น ดีเอ็นเอ (DNA) และ อาร์เอ็นเอ (RNA)
  • แบ่งตามรูปร่างของเปลือกโปรตีน (Capsid) ที่หุ้มอยู่รอบตัวไวรัส เช่น อาจมีรูปร่างหลายเหลี่ยม หรือเป็นเกลียว เป็นต้น
  • แบ่งตามชนิดของเปลือกไขมันรอบตัวไวรัส (Lipid envelope)
  • แบ่งตามลักษณะการแบ่งตัวของไวรัส
  • แบ่งตามอวัยวะที่ไวรัสเข้าไปอยู่ และทำให้เกิดโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสสมองอักเสบ เป็นต้น
  • แบ่งตามพยาธิสภาพ (Pathology) ที่เกิดในร่างกายมนุษย์ เช่น การททำลายเซลล์โดยตัวไวรัสเองโดยตรง การทำลายเซลล์ที่มีไวรัส โดยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเอง และการทำให้เซลล์ที่ไวรัสเข้าไปอยู่กลายเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นต้น

การติดเชื้อไวรัส

เชื้อไวรัส จะรุกรานเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิต เพื่อขยายจำนวน ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส สร้างความเสียหาย และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แต่การมีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาจไม่ทำให้ป่วยเสมอไป เพราะระบบภูมิคุ้มกัน จะเป็นด่านแรกที่ช่วยกำจัด ทำลายเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสแต่ละชนิด สามารถทำให้เกิดโรคต่างกันออกไป เช่น

  • ไวรัส HIV สาเหตุของโรคเอดส์
  • ไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ บี หรือซี สาเหตุของการติดเชื้อที่ตับ และทำให้ตับอักเสบ
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ บี หรือซี สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
  • ไวรัสเดงกี่ สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
  • โคโรนาไวรัส สาเหตุของโรคโควิด-19
  • ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) สาเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจ
เชื้อไวรัส-05

การรักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัส

หลังจากติดเชื้อไวรัส การดูแลรักษา จะรักษาตามอาการ ยังไม่มีการยารักษาโรคจริงจัง ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการเท่านั้น โดยต้องรอให้ร่างกายเรียนรู้ที่จะกำจัดไวรัสได้เอง และจะป้องกันโดยใช้วัคซีนสำหรับโรค เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคหัด และ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ทิ้งท้ายสักนิด อาการป่วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสกันแน่?

อาการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อแบคทีเรีย จะต้องมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ คือ

  1. ต่อมทอมซิลบวม หรือมีจุดหนอง
  2. ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดแล้วเจ็บ
  3. มีไข้ มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  4. ไม่มีอาการไอ

วิธีการรักษา ควรปรึกษาเภสัชกร หรือไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะ ไม่ควรหาทานเองโดยไม่มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด ต้องกินต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมด ระยะเวลาที่ต้องใช้ยาอาจแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของยา และการทานยาปฏิชีวนะบางชนิด มีข้อควรระวังการใช้พิเศษ เช่น ต้องทานก่อนอาหาร 15-30 นาที บางชนิดไม่ควรรับประทานร่วมกับนม เป็นต้น

เชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส-06

อาการจากการติดเชื้อไวรัส

ส่วนใหญ่ก็คือ การเป็นหวัด อาการที่เป็น คือ มีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก ไอ ระคายคอ เจ็บคอ คอแดง หรือเสียงแหบร่วมด้วย วิธีการรักษาหวัด จากเชื้อไวรัส สามารถหายได้เองจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมาก ๆ ใช้เวลา 5-7 วัน อาการจะดีขึ้นเอง แนะนำให้กลั้วคอด้วยนน้ำเกลือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างความแตกต่างระหว่างเชื้อทั้ง 2 ชนิด เรียกได้ว่ามีความอันตรายพอ ๆ กันเลย สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ และดูแลตัวเองที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรง เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั่นเอง

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

SGE CHEM ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมส่งต่อสินค้าที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เข้าชมเว็บไซต์ sgechem.com