เรียบเรียงโดย ด็อกเตอร์อั้ม (Dr. Aum)

รู้หรือไม่? “ปวดหัวเข่า” เกิดได้ทุกช่วงวัย สาเหตุและแนวทางป้องกันมีอะไรบ้าง?

ถ้าพูดถึงอาการปวดเข่า หลาย ๆ คนจะต้องนึกถึงอาการในผู้สูงวัยอย่างแน่นอน ซึ่งอาการ ปวดข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น เป็นอาการเจ็บตรงเข่า จนกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก ๆ แล้วสาเหตุ อาการมาจากอะไรบ้างนั้น ตาม SGE CHEM ไปรู้ถึงอาการ และสาเหตุของการ “ปวดหัวเข่า” กันดีกว่า…

ปวดหัวเข่า คือ?

ปวดหัวเข่า(Knee pain) คือ อาการที่เกิดขึ้นกับระบบข้อต่อกระดูก กล้ามเนื้อ จนกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยรับน้ำหนัก และเคลื่อนไหวร่างกาย

ปวดหัวเข่า(Knee-pain)-02

รู้ไหม? ข้อเข่า ประกอบด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง ลูกสะบ้า และยังมีอวัยวะที่สำคัญอย่าง กระดูกอ่อน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า ที่ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า มีเอ็นรอบ ๆ ข้อเข่า เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลังที่อยู่ด้านใน ที่ช่วยสร้างความมั่นคงของเข่า และหมอนรองกระดูก ถือเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกบริเวณเข่า ช่วยดูดซับ และกระจายแรงจากน้ำหนักตัวนั่นเอง

สาเหตุการปวดหัวเข่า เป็นอย่างไร?

ปวดข้อเข่า หรือปวดหัวเข่า จะมีอาการที่มีการเจ็บ ปวด ขัด เสียว มีความรู้สึกว่าข้อเข่าไม่มีแรง อาจรู้สึกได้ทั้งบริเวณด้านหน้าเข่า และด้านหลังข้อเข่า หรือทั้ง 2 ด้านของข้อเข่า บางครั้งอาจพบว่า มีอาการปวดร้าวขึ้นไปบนต้นขา ปวดร้าวลงไปที่น่อง ซึ่งเป็นอาการปวดที่พบร่วมกันกับอาการปวดเข่าได้ โดยสามารถแบ่งอาการปวดเข่าได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บขณะเล่นกีฬา โดยมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นกับอวัยวะ หรือโครงสร้างในช่องข้อเข่า จนทำให้เกิดอาการปวดเข่าจาก กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ, เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลังฉีกขาด หรือหมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด เป็นต้น
  2. เกิดจากกลุ่มคนที่เป็นโรคที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า โดยอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บจากการใช้งานเฉียบพลัน หรือการเล่นกีฬา ทำให้เกิดการเคล็ด ยอก ของเส้นเอ็นด้านใน และด้านนอกข้อเข่า อาการแบบนี้ มักพบเจอบ่อย ๆ ในนักวิ่ง เช่น อาการเจ็บด้านนอกข้อเข่า IT Band Syndrome (Iliotibial Band Syndrome), เจ็บเคล็ดยอกกล้ามเนื้อหลังเข่า (Hamstring) และเกิดการบาดเจ็บอักเสบของเอ็นสะบ้าเข่า เป็นต้น
  3. เกิดจากอาการปวดในข้อเข่าที่เกิดจากความเสื่อม หรือการใช้งานข้อเข่าต่อเนื่องยาวนาน อาจเกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะ หรือโครงสร้างภายในข้อเข่า คือ โรคข้อเข่าเสื่อม (OA Knee) พบได้ในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน โรคนี้เกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยลง พบได้บ่อยตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป มีการเคลื่อนไหวน้อยลง เกิดภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ส่งผลให้ข้อเข่าเกิดการเสื่อมก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดจากโรคข้อสะบ้าเข่าอักเสบ หรือโรคหมอนรองกระดูกในข้อเข่าฉีกขาดจากการใช้งานก็ได้
  4. เกิดจากโรคความเสื่อมที่ใช้งานมานาน กับอวัยวะนอกข้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาทเสื่อมลง จึงทำงานได้ไม่ดีนัก
สาเหตุและอาการปวดหัวเข่า-03

สังเกตุอาการปวดหัวเข่าเบื้องต้น

สำหรับคนที่มีอาการปวดหัวเข่า ควรสังเกตว่ามีอาการอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้น และส่งต่อแพทย์เพื่อการวินิจฉันโรคต่อไป โดยอาการปวดหัวเข่า แบ่งออกได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • อาการปวดข้อเข่าระหว่างมีการขยับใช้งาน จะเกิดขึ้นเมื่อขยับ หรือลงน้ำหนักบางท่า เป็นเฉพาะจังหวะที่เคลื่อนไหว ไม่ได้เจ็บปวดตลอดเวลา ถ้านั่งพัก นอนพักเฉย ๆ จะไม่มีอาการ อาการปวดแบบนี้ เกิดจากความผิดปกติขึ้นกับโครงสร้างบางตำแหน่งของข้อเข่า ที่มีการใช้งาน หรือรับน้ำหนัก เมื่อมีการเคลื่อนไหวเท่านั้น
  • ปวดเฉพาะตอนเริ่มขยับแรก ๆ จากนั้นพอใช้งานสักพัก อาการปวดจะหายไป เช่น หลังตื่นนอนตอนเช้า เมื่อลุกขึ้นมาเดิน ขยับก้าวแรก จะปวดหัวเข่ามาก แต่พอขยับเคลื่อนไหวสักพัก อาการปวดจะทุเลาลง เป็นต้น อาการปวดแบบนี้ เป็นอาการอักเสบที่ยังไม่รุนแรงมากนัก เพราะเมื่อไม่ได้ขยับข้อเข่าเป็นเวลานาน อาจมีอาการอับเสบสะสมอยู่ในตำแหน่งที่มีโรค การขยับครั้งแรกแล้วเจ็บ เป็นการกระตุ้นให้การอักเสบเพิ่มขึ้น พอใช้งานสักพักจนเลือดเข้าไปเลี้ยงในบริเวณหัวเข่า อาการอักเสบก็จะกระจายออกไป ทำให้หายเจ็บนั่นเอง
  • ปวดหัวเข่าตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอนพัก นั่งเฉย ๆ อาการปวดแบบนี้ เป็นการอักเสบที่รุนแรงขึ้น และสารอักเสบที่คั่งมีปริมาณค่อนข้างมากในข้อเข่า จะพบร่วมกับอาการบวม แดง ร้อนของข้อเข่า ซึ่งสังเกตง่าย ๆ คือ เอามือวางสัมผัสบนเข่าทั้ง 2 ข้าง จะพบว่า ข้อเข่าข้างที่อักเสบ จะมีความอุ่น ร้อนที่มากกว่าเข่าข้างปกติ
  • อาการปวดเฉพาะตำแหน่งที่กดโดน เรียกอาการนี้ว่า เป็นรอยโรค หรือพยาธิสภาพ เฉพาะตำแหน่งที่กดเท่านั้น เช่น การบาดเจ็บ การเคล็ดอักเสบของเส้นเอ็นที่อยู่ด้านนอกเข่า จะทำงานหนักเวลาวิ่ง และจะเจ็บเฉพาะเวลาที่กดโดน แต่ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป นั่ง ยืน เดิน นอน จะมีอาการเจ็บน้อย หรือไม่เจ็บเลยก็ได้

ระดับการปวดหัวเข่า

ถ้ามีอาการปวดหัวเข่าที่รุนแรง และชัดเจน ให้คะแนนความปวด (Pain Scale) โดยใช้จินตนาการจากความรู้สึกเจ็บในเบื้องต้น ดังนี้

Pain Scale-Knee-pain-04
  • คะแนน 0 คือ ไม่มีความปวด
  • คะแนน 1-5 คือ ความปวดที่ปกติ สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้
  • คะแนนความปวดที่มากกว่า 5 คะแนน คือ อาการปวดที่ผิดปกติ และควรไปพบแพทย์
  • คะแนน 10 คือ ความปวดที่มากที่สุด และควรไปพบแพทย์

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อปวดหัวเข่า

  • พักการใช้งาน ลดการเคลื่อนไหว ลดกิจกรรมการใช้งานข้อเข่าลงให้น้อยลงกว่าปกติ เช่น ไม่ยืน เดิน-ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
  • ยกปลายขาสูง เพื่อไม่ให้เลือดลงไปคั่งในบริเวณหัวเข่าที่เกิดการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการอักเสบหัวเข่าได้ โดยท่านั่งให้ยกขาขึ้นมาบนเก้าอี้ ส่วนท่านอน ให้หาหมอน หรือผ้าห่มหนุน เพื่อยกปลายเท้าให้สูงขึ้นกว่าลำตัว
  • การประคบเย็น ประคบร้อน สำหรับการอักเสบเฉียบพลันภายใน 24 ชั่วโมงแรก แนะนำให้ ประคบเย็น เพื่อให้ความเย็นไปหยุดเลือดบริเวณหัวเข่า ไม่ให้เลือดไหลเข้าไปสะสมจนอักเสบเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกิน 24 ชั่วโมงแรกแล้ว หรือเป็นการอักเสบเรื้อรัง แนะนำให้ประคบอุ่น เพื่อช่วยให้เลือดเข้ามาเลี้ยงบริเวณหัวเข่ามากขึ้น และเก็บเอาสารอักเสบออกไปได้

ออกกำลังกาย ช่วยลดอาการปวดเข่าได้จริงหรือ?

การป้องกันอาการปวดเข่า สามารถทำได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คนที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยง เช่น งอเข่า นั่งยอง คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจฝึกการบริหาร กล้ามเนื้อต้นขา และสะโพก สามารถช่วยลดอาการปวดเข่าได้ โดยท่าบริหารป้องกันการปวดหัวเข่า ได้แก่

ออกกำลังกายป้องกันปวดหัวเข่า-05

1) การสควอช (Squat)

  • กางขาสองข้างระดับหัวไหล่ สามารถยกแขน เพื่อบาลานซ์ตัว หลังตรงเกร็งหน้าท้อง หย่อนก้น และย่อเข่าลงมา พยายามให้หัวเข่าไม่เลยเกินปลายเท้า ย่อเข่าลง 90 องศา ทำ 10 ครั้งต่อเซ็ต
  • สำหรับ คนอาการปวดเข่า แนะนำให้ย่อเข่าลงเพียง 45-60 องศา หรือฮาร์ฟสควอช (Half Squat) ทำ 10 ครั้งต่อเซ็ต

2) การเหยียดขาตรง (Straight Leg Raising) การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา โดยนั่งบนเก้าอี้ให้หลังตรง ยกขาขึ้น เข่าเหยียดตรงไม่งอ ค้างไว้ นับ 1-10 วินาทีต่อเซ็ต

3) การย่อขา (Lunges) เป็นท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก คล้าย ๆ กับการสควอช แต่ใช้การก้าวมาด้านหน้า และย่อเข่าสลับกัน ทำ 10 ครั้งต่อเซ็ต ก็ช่วยบริหารข้อเข่าได้

อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวเข่า ถือเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่เราทุกคนต้องตระหนักถึง คอยหมั่นสังเกตุร่างกายว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง หากพบความผิดปกติ ควรหาทางป้องกันเบื้องต้น หรือเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญได้

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

SGE CHEM ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมส่งต่อสินค้าที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เข้าชมเว็บไซต์ sgechem.com