เรียบเรียงโดย ด็อกเตอร์อั้ม (Dr. Aum)

เรื่องต้องรู้ “ยาหมดอายุ” รู้ได้อย่างไร พร้อมวิธีทิ้งให้ถูกวิธีและปลอดภัย

อีกหนึ่งข้อควรรู้ที่หลาย ๆ คนควรทราบ อย่างเช่น การสังเกตุวันหมดอายุ โดยเฉพาะใน ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากเผลอทาน ยาหมดอายุ เข้าไป อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะตับ และไตได้ บทความนี้ SGE CHEM จะพาไปสังเกต “ยาหมดอายุ” ว่าดูได้อย่างไรบ้างกัน ตามไปดูกัน

ยาหมดอายุ คือ?

เป็นยาที่มีลักษณะผิดเสื่อมสภาพ หรือเหลือตัวยาสำคัญน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทางผู้ผลิต สังเกตจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก ที่เห็นได้ชัดเจน หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในตัวยา ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถสังเกตุได้จากข้อมูลวันผลิต และวันหมดอายุบนฉลากยาได้

ยาหมดอายุexpiredmedicine-02

โดยการเสื่อมสภาพของยา เกิดขึ้นได้ 3 แบบ คือ

  • การเสื่อมสภาพทางกายภาพ เช่น มีสีที่เปลี่ยน มีกลิ่น รสชาติเปลี่ยนไป และการตำตะกอน
  • การเสื่อมสภาพทางเคมี เช่น การลดลงของปริมาณตัวยาสำคัญ และการเพิ่มขึ้นของสารลายตัว
  • การเสื่อมสภาพทางจุลวิทยา เช่น การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเกินระดับความปลอดภัย

วิธีดูยาหมดอายุ ทำได้อย่างไร?

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นตัวอักษรบนฉลากยากันมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจมีบางคงยังสงสัยว่า ความหมายคืออะไร โดยส่วนใหญ่ วันหมดอายุ เขียนว่า “วันสิ้นอายุ” หรือภาษาอังกฤษเขียนว่า “Expire Date:..” หรือ “Exp. Date:…” หรือ “Used before…” และในส่วนของ วันผลิต เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Manu. Date:…” หรือ “Mfg. Date:…” นั่นเอง

ยาหมดอายุexpiredmedicine-03

สำหรับการสังเกตุว่า ยาหมดอายุแล้วหรือยัง สามารถทำได้ ดังนี้

  • สังเกตุจากวันหมดอายุบรรจุภัณฑ์ หรือใต้ฉลากยา หากมีการระบุเฉพาะเดือน และปีที่หมดอายุ หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันสุดท้ายของเดือนที่ระบุ
    ตัวอย่าง: Use Before 03/27 วันที่ยาหมดอายุ คือ วันที่ 31/03/2027 หรือ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2570 นั่นเอง
  • สำหรับยาที่แบ่งบรรจุล่วงหน้า (Pre-Pack) หรือการนำยามาแบ่งจากภาชนะเดิม เช่น ยานับเม็ด หรือครีมที่ป้ายมาจากกระปุกใหญ่ ซึ่งวันหมดอายุจะมีการกำหนดขึ้นใหม่ โดยจะมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ
    ตัวอย่าง: ยาเม็ดแบ่ง วันที่ 12/23 วันที่ยาหมดอายุ คือ วันที่ 31/12/2024 หรือ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 นั่นเอง
  • สำหรับยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ จะมีอายุยา 3 ปีนับจากวันที่ผลิต หากเปิดใช้งานแล้ว จะมีอายุยาไม่เกิน 6 เดือน เพราะในยาน้ำมีสารกันเสียทั้งชนิดทานและใช้ภายนอก ส่วนการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับผู้ผลิตกำหนด
  • สำหรับยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง หรือยาที่ต้องมีการผสมน้ำลงไป และเขย่าก่อนทาน เป็นยาที่ไม่มีสารกันเสีย เมื่อผสมน้ำลงไปแล้ว เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ยาจะมีอายุ 7 วัน หรือถ้าเก็บในตู้เย็น ยาจะมีอายุ 14 วัน
  • สำหรับยาน้ำเชื่อม เมื่อเปิดใช้ ควรเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน และเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในตู้เย็น เพราะยาอาจจะตกตะกอน ยกเว้นยา Azithromycin Syrup ที่ต้องเก็บในตู้เย็น
  • สำหรับยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นยาที่ใส่สารต้านเชื้อ เมื่อเปิดใช้งาน จะมีอายุไม่เกิน 1 เดือน และถ้าไม่ใส่สารต้านเชื้อ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน การเก็บรักษาเก็บตามคำแนะนำข้างฉลากได้เลย
  • สำหรับยาบางชนิดระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ  ยาเม็ด สามารถเก็บไว้ได้ 5 ปี นับจากวันผลิต และยาน้ำที่ไม่ได้เปิดใช้งาน สามารถเก็บได้ 3 ปี นับจากวันผลิต

อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษายาให้เหมาะสม ก็สามารถช่วยรักษาสภาพของยาได้ แต่ก็อย่าลืมสังเกตุลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วย เพราะถ้ายามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรหยุดใช้ยาชนิดนั้นทันที

ยาเสื่อมสภาพ ต่างจากยาหมดอายุ หรือไม่?

ยาเสื่อมสภาพ คือ ยาที่ลักษณะทางกายภาพ เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น สี รูปร่าง กลิ่น รสชาติ กล่าวได้คือ ยาเสื่อมสภาพ อันตรายไม่ต่างจากยาหมดอายุ ดังนั้น หากพบว่ายาเสื่อมสภาพ แม้จะยังไม่หมดอายุ หรือเปิดใช้ได้ไม่นาน ควรทิ้งทันที

ยาเสื่อมสภาพต่างจากยาหมดอายุไหม-04

วิธีสังเกตยาเสื่อมสภาพ ทำได้ดังนี้

ยาเม็ด

  • ยาเม็ดชนิดเคลือบ มีลักษณะเยิ้ม เหนียว มีกลิ่นหืน บูด หรือผิดปกติไปจากเดิม
  • ยาเม็ดชนิดไม่เคลือบ เม็ดยาจะดูชื้น สัมผัสแล้วนิ่ม ๆ แตก บิ่น หรือร่วนเป็นผง อาจมีจุดด่าง ขึ้นรา และสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ยาเม็ดชนิดแคปซูลแข็ง เปลือกแคปซูลจะบวมโป่ง มีเชื้อราขึ้นเป็นจุด ๆ ผงยาเปลี่ยนสี หรือจับกันเป็นก้อน
  • ยาเม็ดชนิดแคปซูลนิ่ม เปลือกแคปซูลเสียรูปทรงไปจากเดิม เยิ้มเหลว เหนียว หรือเปื่อยทะลุจนตัวผงยาภายใน ไหลออกมากด้านนอก

ยาน้ำ

  • ยาน้ำเชื่อม จะมีสีเปลี่ยน รสเปรี้ยว และมีกลิ่นบูด ตกตะกอน ขุ่นเหมือนผงยาละลายไม่หมด หรือเห็นฟองก๊าซ หรือเยื่อเบา ๆ ลอยอยู่
  • ยาน้ำชนิดแขวนตะกอน มีสี กลิ่น รสชาติเปลี่ยนไป เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นตะกอนเกาะกันแน่น
  • ยาน้ำชนิดผงละลายน้ำ ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถละลายน้ำได้ บรรจุภัณฑ์จะมีไอน้ำ หรือหยดน้ำเกาะ
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา ตัวยาจากใสจะกลายเป็นขุ่น เมื่อหยอดตาแล้ว จะรู้สึกแสบตามากกว่าปกติ

ยาชนิดอื่น ๆ

  • ยาชนิดครีม เนื้อครีมแยกชั้น มีสี และเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป มีความหนืดมากกว่าปกติ และมีกลิ่นเหม็นหืน
  • ยาชนิดขี้ผึ้ง คล้าย ๆ กับยาชนิดครีม แต่อาจมีของเหลวไหลออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา
  • ยาชนิดเจล จากที่ใสจะกลายเป็นขุ่น และเนื้อยาไม่เกาะเป็นเนื้อเดียวกัน

ยาหมดอายุ ทานได้หรือไม่?

ขึ้นชื่อว่ายาหมดอายุ ดังนั้นตอบได้ง่าย ๆ เลยว่า ไม่ควรทานยาที่หมดอายุ เพราะตัวยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคนั้น ได้เสื่อมลงจนเหลือปริมาณน้อยกว่า 90% ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคได้ และยาหมดอายุบางชนิดอาจมีแบคทีเรียเจริญเติบโตอยู่ภายใน หากกิน มหรือใช้ยานั้นไป อาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือยาบางชนิด อาจกลายสภาพเป็นยาพิษ ก่อให้เกิดอันตรายต่อตับ และไต จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

วิธีทิ้ง-ยาหมดอายุ-05

วิธีทิ้งยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพอย่างปลอดภัย

  • ควรทิ้งยาชนิดนั้น ๆ ตามเอกสารกำกับยา หรือฉลากยาที่ให้มากับบรรจุภัณฑ์
  • ไม่ควรทิ้งลงอ่างล้างจาน หรือชักโครก ยกเว้น ยาที่เอกสารกับกำยา แนะนำให้ปฏิบัติเท่านั้น
  • ควรลบชื่อ และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนทิ้งยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด
  • นำยาใส่ถุงซิปล็อก พร้อมเขียนกำกับหน้าถุงว่า ยาหมดอายุทิ้ง และควรแยกทิ้งในถังขยะอันตราย

ทิ้งท้ายสักนิด ยาเหลือ นำไปบริจาคได้ไหม?

การบริจาคยาเหลือใช้ ที่ยังไม่หมดอายุ ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการยา สามารถทำได้ แต่ก็มีรายละเอียดก่อนนำไปบริจาค ดังนี้

✔ ยาที่เปิดรับบริจาค

  • ยาที่ยังไม่หมดอายุ อย่างน้อย 6 เดือน เช่น ยาพารา ยาแก้แพ้ หรือยารักษาตามอาการ
  • ยาที่ยังไม่เปิดใช้ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทเท่านั้น
  • ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โดยต้องมีวันหมดอายุเหลือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
ยาเหลือบริจากได้ไหม-06

✘ ยาที่ไม่รับบริจาค

  • ยาหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ
  • ยาที่เปิดใช้งานแล้ว
  • ยาที่ต้องแช่เย็นเท่านั้น
  • ยาทา เช่น ยาแดง ยาหยอดตา ยาแก้ร้อนใน
  • ยาเฉพาะโรค เช่น ยาโรคหัวใจ ยาไทรอยด์ และยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด

อย่างไรก็ตาม ยา วิตามิน อาหารเสริมต่าง ๆ ทุกชนิด ย่อมมีวันหมดอายุอยู่แล้ว ก่อนทานอย่าลืมเช็ค ยาหมดอายุ ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย หวังว่าบทความนี้ คงจะให้สาระดี ๆ แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

SGE CHEM ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมส่งต่อสินค้าที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เข้าชมเว็บไซต์ sgechem.com