เรียบเรียงโดย ด็อกเตอร์อั้ม (Dr. Aum)

รู้จัก “บอแรกซ์” สารพิษอันตรายในอาหาร ที่ให้โทษมากกว่าประโยชน์

ได้ยินชื่อมานานกับสาร บอแรกซ์ (Sodium Borate) ที่ถูกนำมาใช้เจือปนในอาหาร เพื่อสร้างอรรถรสทางการกินตลอดหลายยุคหลายสมัย แต่ในความอร่อยที่ได้รับนั้น กลับอาจเป็นดั่งยาพิษที่ค่อย ๆ สะสมในร่างกาย และอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้เลย บทความนี้จะพาไปรู้เท่าทันโทษของบอแรกซ์ สาร อันตรายชนิดนี้กัน!

บอแรกซ์ เป็นสารเคมีที่มีชื่อว่า โซเดียมโบเรท (Sodium Borate) หรือที่รู้จักกันในนาม ผงกรอบ หรือ น้ำประสานทอง สารเคมีชนิดนี้มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ดี ในทางอุตสาหกรรมจึงนิยมใช้สำหรับผลิตแก้ว ภาชนะเคลือบ ชุบโลหะ เพราะทำให้วัสดุทนทานความร้อนได้ดีขึ้น หรือแม้แต่ใช้ในการผสมสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง  ยาฆ่าเชื้อราเพื่อการดูแลรักษาเนื้อไม้ และใช้เป็นตัวประสานเชื่อมทอง เป็นต้น

บอแรกซ์ คืออะไร?

ซึ่งคุณสมบัติที่ถูกกล่าวมาข้างต้นนั้น ดูอย่างไรก็ไม่ควรถูกนำมาเจือปนอยู่ในอาหารเลยแม้แต่น้อย แต่ถึงกระนั้นสารบอแรกซ์กลับถูกนำมาใช้ในอาหารบางชนิด เพื่อสร้างความสด กรอบ และความเหนียวนุ่มที่อาบแฝงไปด้วยสารพิษ ซึ่งขัดกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) ที่กำหนดให้บอแรกซ์เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหารโดยเด็ดขาด

โดยอาหารที่มักตรวจพบส่วนประกอบของบอแรกซ์ ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสด หมูสด หมูบด หรือปลาบด เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่แปรรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น ทอดมัน ลูกชิ้น ไส้กรอก หรือหมูยอ เป็นต้น
  • อาหารหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น
  • ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ดอง หรือผักดอง

อาการที่พบหากทานอาหารปนเปื้อน บอแรกซ์

สารเคมีอันตรายอย่าง บอแรกซ์(Sodium Borate) ที่ถูกนำมาผสมในอาหารเพื่อความกรอบเด้ง หากได้รับในปริมาณน้อย กลไกในร่างกายก็มีวิธีที่จะกำจัดและขับสารเหล่านั้นออกมาได้ แต่ต้องใช้เวลาเกือบสัปดาห์ ซึ่งหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นประจำ อาจทำให้สะสมและขับออกจากร่างกายไม่ทัน จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

อาการที่พบหากทานอาหารปนเปื้อน บอแรกซ์

โดยอาการที่พบหากทานอาหารปนเปื้อนบอแรกซ์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.อาการแบบเฉียบพลัน

    • มีอาการอ่อนเพลีย
    • นอนไม่หลับ
    • ปวดศีรษะ
    • หงุดหงิด
    • ผิวหนังอักเสบ
    • เป็นผื่นแดง
    • ผมร่วงผิดปกติ
    • คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บในช่องท้อง กระเพาะอาหาร และลำไส้
    • อุจจาระเป็นเลือด หรือ ท้องร่วง
    • มีโอกาสเสียชีวิต

2.อาการแบบเรื้อรัง

    • อ่อนเพลีย
    • เบื่ออาหาร
    • ผิวหนังแห้ง
    • ใบหน้าบวม
    • ตาบวม
    • เยื่อตาอักเสบ
    • ตับอักเสบ
    • ไตอักเสบ หรือภาวะไตวาย
    • หากสะสมอยู่ในไตและสมองเป็นจำนวนมาก จะเกิดการทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะ

“ ในเด็กหากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณ 5 กรัมในครั้งเดียว อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

เช่นเดียวกันกับในผู้ใหญ่ ที่หากรับสารบอแรกซ์ปริมาณ 15 กรัมในครั้งเดียว ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้

เลี่ยงอาหารที่ปนเปื้อนบอแรกซ์ ได้อย่างไร?

เลี่ยงอาหารที่ปนเปื้อน บอแรกซ์ ได้อย่างไร?
  • ทานอาหารที่หลากหลาย เลี่ยงอาหารประเภทเดิม ๆ เพื่อลดการเจอสารบอแรกซ์ในอาหาร รวมถึงการสะสมพิษในร่างกาย
  • ไม่เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงผิดปกติ หรือมีสีเนื้อที่ดูผิดไปจากธรรมชาติ
  • ก่อนนำเนื้อสัตว์ไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดก่อน เพื่อลดปริมาณหรือขจัดสารบอแรกซ์ออกไป รวมถึงกำจัดสิ่งสกปรกอื่น ๆ บนเนื้อสัตว์ออกไปด้วย
  • หากต้องการรับประทานเนื้อสัตว์บด ให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์เป็นชิ้น แล้วนำมาบดด้วยตนเอง โดยเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด มีคุณภาพและเชื่อถือได้
  • เลี่ยงรับประทานอาหารแปรรูปที่มีลักษณะกรอบเด้ง หรืออยู่ได้นานผิดปกติ โดยเฉพาะของทอด ที่มีความกรอบยาวนานผิดปกติ เป็นต้น
  • ห้ามนำบอแรกซ์ไปผสมน้ำดื่ม เพราะเชื่อว่าจะช่วยรักษาโรคได้โดยเด็ดขาด เพราะแท้จริงแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะโรคตับและโรคไต
  • ตรวจสารบอแรกซ์ในอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ทราบผลได้เร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูง

วิธีตรวจหาบอแรกซ์ ในอาหารด้วยตัวเอง

วิธีตรวจหา บอแรกซ์ ในอาหารด้วยตัวเอง

วิธีตรวจหาสารบอแรกซ์ในอาหาร เป็นวิธีที่ทำให้ทราบผลได้เร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูงสุด โดยสามารถใช้ตรวจวัดได้ทั้งอาหารสุกและอาหารสด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    1. นำตัวอย่างอาหารที่คาดว่าปนเปื้อนบอแรกซ์ มาหั่นหรือบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟ
    2. ตักตัวอย่างอาหารประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ในภาชนะที่เป็นถ้วยแก้ว เตรียมไว้
    3. จากนั้นให้เติมน้ำยาทดสอบ สารละลายกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric) ลงไปในตัวอย่างอาหารจนเปียกชุ่ม
    4. แล้วใช้กระดาษขมิ้นสีเหลืองจุ่มลงไปในถ้วยทดสอบ รอให้กระดาษเปียกเกือบครึ่งแผ่น จึงนำขึ้นมาตากแดดนาน 10 นาที
    5. หากสังเกตพบว่า กระดาษขมิ้นส่วนที่จุ่มลงไปในน้ำเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง แสดงว่าอาหารดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ และไม่ควรนำมารับประทาน

สารบอแรกซ์เป็นสารอันตรายที่ไม่ควรนำมาผสมเจือปนอยู่ในอาหาร ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานอะไรเข้าไป ควรสังเกตถึงความผิดปกติและหลีกเลี่ยงอาหารที่สุ่มเสี่ยงจะใช้สารบอแรกซ์เป็นส่วนประกอบ ที่สำคัญควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เลี่ยงรับประทานอาหารแปรรูป และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันนะคะ

บทความที่น่าสนใจ

SGE CHEM ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมส่งต่อสินค้าที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เข้าชมเว็บไซต์ sgechem.com

ข้อมูลอ้างอิง : petcharavejhospital, health.kapook, pobpad, chulalongkornhospital